การเลือกตั้งในมาเลเซีย





              ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปในต่างประเทศที่มีสีสันและถูกจับตามองมากที่สุดสังเวียนหนึ่งในปี 2013นี้ คือการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในแดนเสือเหลือง มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเรานั่นเอง

       
          การเลือกตั้งทั่วไปรอบล่าสุดของมาเลเซียที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2013 ที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลังการประกาศของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคเพื่อให้มีการยุบสภาอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน โดยการเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่นของรัฐต่างๆ จำนวน 12 รัฐจากทั้งหมด 13 รัฐทั่วประเทศ (ยกเว้นรัฐซาราวัค)


นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค -พรรคแนวร่วมแห่งชาติ

         นายกรัฐมนตรีนาจิบ วัย 59 ปี ไม่ต่างจากเดินอยู่บนทางสองแพร่ง ต้องเผชิญกับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เรียกร้องให้เกิดสิ่งนี้ กับพวกหัวเก่าที่แนวคิดต่อต้านการปฏิรูปในรัฐบาลอายุหลายสิบปีของมาเลเซีย เพราะฉะนั้น การวางตัวในระดับที่สมดุลจะเป็นบททดสอบในการเลือกตั้งวันนี้

         นายนาจิบ นักเศรษฐศาสตร์ที่จบการศึกษาจากอังกฤษ เข้ารับตำแหน่งหลังจากพรรครัฐบาลขณะนั้น ภายใต้การนำของนายอับดุลลาห์ บาดาวี  ออกจากตำแหน่งหลังสูญเสียเก้าอี้ ส.ส. ให้พรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปี 2551 เลวร้ายที่สุดของรัฐบาลตั้งแต่อยู่ในอำนาจมาจนถึงขณะนี้ 56 ปี นายนาจิบก็เผชิญหน้ากับพรรคฝ่ายค้านที่รวมตัวกันขึ้นจากชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่ให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันว่าจะยุติปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีอยู่อย่างดาษดื่น และปฏิรูปนโยบายประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะเน้นให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยชาวมาเลย์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

         อย่างไรก็ตาม นายนาจิบ ซึ่งมีบุคลิกลักษณะนุ่มนวล ได้เปรียบคู่แข่งอยู่มากในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, คะแนนนิยมส่วนตัวยังแน่นปึ้ก, ควบคุมสื่อในประเทศได้ และชาติตระกูลดี เนื่องจากสืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้ดีเก่า เป็นคนในตระกูลนักการเมืองโดยสายเลือด โดยเป็นบุตรชายของนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งมาเลเซีย คือนายราซัค ฮุซเซน ที่ได้รับการชื่นชมจากชาวมาเลย์เป็นอย่างมาก และเป็นหลานของนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 คือ ฮุซเซน ออน ซึ่งเขาก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะชนะใจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เทคะแนนให้ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งแรกที่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเดิมพัน

        นายนาจิบ เผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น พรรคอัมโนพยายามที่จะทำให้เขาเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลงผ่านการปฏิรูปที่จำกัด ซึ่งรวมทั้งการร่างกฎหมายขึ้นมาใช้แทนกฎหมายความมั่นคง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นายนาจิบหลีกเลี่ยงการปฏิรูปในเชิงลึก และผลสำรวจความคิดเห็น ซึ่งระบุว่า เขาล้มเหลวในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของรัฐบาล ที่สายตาประชาชนมองว่า เป็นรัฐบาลฟุ่มเฟือย คอร์รัปชั่น ซึ่งอาจทำให้เสียคะแนน บริดเกต เวลช์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาเลเซีย จากมหาวิทยาลัยบริหารในสิงคโปร์ กล่าวว่า ในการปฏิรูป นายนาจิบเป็นจักรพรรดิที่ไร้อาภรณ์

       ในการเลือกตั้งวันนี้ ถือเป็นงานหนักของพรรคแนวร่วมแห่งชาติบาริซาน หนึ่งในรัฐบาลที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก ในการต่อสู้กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค ซึ่งนำโดย นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตนักการเมืองอนาคตไกลของพรรคอัมโน แต่เป็นที่คาดกันว่า พรรคแนวร่วมแห่งชาติบาริซาน จะชนะเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียด ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ของนายนาจิบ ตกที่นั่งลำบาก
       หากล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิเคราะห์และคนวงในของพรรคอัมโน บอกว่า นายนาจิบอาจเผชิญกับการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คล้ายกับเมื่อครั้งที่เขาได้ตำแหน่งนี้มาเมื่อปี 2552 แต่อย่าลืมว่า บิดาของนายนาจิบ คือนายราซัค ฮุซเซน นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย และถือเป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในปี 2500 สถานะของเขาค่อนข้างมั่นคงทีเดียว


 นายอันวาร์ อิบราฮิม  (ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน) -พรรคปากาตัน รักยัต

        ด้านนายอันวาร์ อิบราฮิม คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคฝ่ายค้าน ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ก่อนหน้านี้ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในมาเลเซียเช่นกัน แต่มีอันต้องกระเด็นออกจากเวทีการเมืองไปเมื่อ 15 ปีก่อน จากฝีมือรัฐบาลที่โยนข้อกล่าวหาให้หลายกระทง ทำให้ต้องต่อสู้กับมรสุมใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่ชีวิตตลอดช่วงเวลาดังกล่าว วันนี้ คือโอกาสที่ดีที่สุดของนายอันวาร์ ที่จะแก้แค้นรัฐบาลในการเลือกตั้งที่ถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิต
        นายอันวาร์ ในวัย 65 ปี อดีต คือทายาทการเมืองที่ดูเหมือนว่าจะได้รับการวางตัวให้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคอัมโน พร้อมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้ คือ หนามยอกอก ศัตรูหมายเลขหนึ่งของพรรคอัมโน ฝันว่าจะยัดเหยียดความปราชัยให้รัฐบาลที่ผูกขาดอำนาจมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
       อดีตรองนายกรัฐมนตรี พ่วงรัฐมนตรีคลังผู้นี้ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก บอกว่า เขาเพียงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถบริหารประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาล, ขุดรากถอนโคนการคอร์รัปชั่น และทำให้ประชาธิปไตยในมาเลเซียเต็มใบเสียที

       
       ผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่าพรรคการเมือง 13 พรรคที่เป็นพันธมิตรฝ่ายรัฐบาล ที่เรียกตัวเอง “บาริซัน เนชันแนล” (บีเอ็น) ที่มีพรรค “United Malays National Organisation” หรือพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคเป็นแกนนำยังคงสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้อีกครั้ง ด้วยจำนวนที่นั่งในสภา 133 ที่นั่ง แม้จะลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 7 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรคในนาม “ปากาตัน รักยัต” ภายใต้การนำของนายอันวาร์ อิบราฮิมคว้ามาได้ 89 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 7 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
                                  
       อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวร่วมฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายอันวาร์ กลับเป็นฝ่ายที่ได้รับคะแนน “ป็อปปูลาร์ โหวต” จากประชาชนสูงกว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ราว 5.6 ล้านเสียง ต่อ 5.2 ล้านเสียง ขณะที่จำนวนผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศอยู่ที่ระดับ 84.84 เปอร์เซ็นต์
       

นายนาจิบ ราซัคทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย

       หลังมีการประกาศผลการเลือกตั้งเพียง 1 วัน นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ได้เข้าทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียเมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคมเพื่อเข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศสมัยที่ 2 แม้การเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งจบสิ้นลง จะถูกฝ่ายค้านประณามว่าเต็มไปด้วย “การทุจริต”
       



       อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำของพันธมิตรฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมประท้วง “การโกงเลือกตั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย” ในวันพุธที่ 8 พฤษภาคม ณ สนามกีฬาแห่งหนึ่งนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยย้ำว่ารัฐบาลของนาจิบ ราซัคได้สูญสิ้นความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมือง และอันวาร์ยังขนานนามการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการ “ก่ออาชญากรรมต่อชาวมาเลเซีย”
       
       บรรดาผู้สนับสนุนแนวร่วมฝ่ายค้านต่างแสดงออกถึงความรู้สึกผิดหวังและขมขื่นกับผลการเลือกตั้งที่ออกมา เนื่องจากพวกเขาคาดหมายไว้สูงว่าการเลือกตั้งคราวนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศแต่ผลลัพธ์คือ พวกเขาได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วในปี 2008 เพียง 7 ที่นั่งเท่านั้น
       


       ขณะที่ในการเลือกตั้งคราวนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงมากมายร้องเรียนว่า มาตรการสำคัญประการหนึ่งซึ่งทางการมาเลเซียระบุว่าเป็นเครื่องรับประกันว่าจะไม่มีการโกงการเลือกตั้ง อันได้แก่การให้ผู้ที่ใช้สิทธิแล้ว “พิมพ์นิ้วมือ” ด้วย “หมึกที่ไม่สามารถลบได้” เพื่อป้องกันการเวียนเทียนลงคะแนนนั้น แท้จริงแล้วหมึกดังกล่าวสามารถใช้นิ้วลบออกอย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอ ภาพถ่าย และข้อมูลจากผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมาก ที่ยืนยันผ่านโลกออนไลน์ว่า พบ “ผู้มีสิทธิออกเสียง” ชาวต่างชาติในคูหาเลือกตั้ง ซึ่งตรงกับที่อันวาร์ เคยกล่าวหาก่อนวันเลือกตั้งไม่นานว่ารัฐบาลขน “ผู้ต้องสงสัย” หลายหมื่นคนซึ่งอาจเป็นชาวต่างชาติไปยังเขตเลือกตั้งหลายแห่งทั่วประเทศ
       
       อันวาร์วัย 65 ปีซึ่งเคยมีตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในระหว่างปี 1993-1998 และถูกวางตัวเป็น “ทายาททางการเมือง” ของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด กล่าวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนที่เข้าร่วมชุมนุมเมื่อคืนวันพุธ (8) ณ สนามกีฬาแห่งหนึ่งนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยยืนยันจะเดินหน้าคัดค้านผลการเลือกตั้งใน 30 เขต ที่ผู้สมัครของพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ปากาตัน รักยัต” ทั้ง 3 พรรค ประสบความพ่ายแพ้ต่อผู้สมัครของฝ่ายรัฐบาลแบบน่ากังขา โดยเขามั่นใจว่าการต่อสู้ตามแนวทางนี้มากพอที่จะก่อให้เกิดการพลิกผันของผลการเลือกตั้งได้
        

ประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมชุมนุมกับฝ่ายค้านมาเลเซีย เพื่อแสดง พลังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

       ขณะที่จำนวนของผู้ออกมาชุมนุมตามการเชิญชวนของอันวาร์นั้น รอฟิซี รัมลี ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ของพรรคพีเพิลส์ จัสทิซของนายอันวาร์ระบุว่ามีผู้เดินทางมาร่วมชุมนุมสูงถึงราว 80,000 คน ทั้งที่มีฝนตกหนักและมีคำขู่จากทางการมาเลเซียว่าจะจับกุมผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมของฝ่ายค้าน ขณะที่ข้อมูลของตำรวจเผยว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมของฝ่ายค้านมีจำนวนประมาณ 60,000 คน
       
       ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซียเผย ผู้สมัครที่ข้องใจในผลการเลือกตั้งมีเวลา 21 วันในการยื่นเรื่องร้องเรียน และหากมีการตรวจสอบพบการทุจริตจริงตามข้อร้องเรียน ผู้พิพากษาก็จะออกคำสั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่พบปัญหา
       
       เมื่อถึงตอนนี้ คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่า แม้การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียที่เกิดขึ้นในคูหา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคมจะจบสิ้นลงไปแล้ว แต่ “การเมืองนอกคูหา” ของมาเลเซียดูจะจะยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลของนาจิบ ราซัคยังไม่อาจยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองได้ว่าได้รับชัยชนะมาอย่างขาวสะอาด โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจได้เห็นการประท้วงตามท้องถนนที่ยืดเยื้อจากฝ่ายค้านของอันวาร์ อิบราฮิม และหากเป็นเช่นนั้นก็คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มอาเซียนและอันดับ 29 ของโลกมิใช่น้อย


 อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น